องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD)
ที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการ OECD
ตั้งอยู่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีเจ้าหน้าที่กว่า 2,500 คน ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ ปฏิบัติงานตามแนวทางที่คณะมนตรี OECD กำหนด
ภูมิหลัง
OECD จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1961 โดยพัฒนามาจาก OEEC (Organization for European Economic Co-operation) เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และแคนาดา ภายใต้แผนการณ์มาร์แชล (Marshall Plan) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการบูรณะฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมของยุโรปซึ่งกำลังประสบความเสียหายอย่างหนักภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 เป็นต้นมา OECD ก็ได้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศสมาชิก ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมการค้าเสรี และให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ โลกยุคโลกาภิวัตยังทำให้ภารกิจของ OECD เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้นการตรวจสอบนโยบายในด้านต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกไปสู่การวิเคราะห์แนวทางที่นโยบายต่าง ๆ จะสามารถมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกและกับประเทศภายนอกกลุ่มโดยเฉพาะในประเด็นปัญหาข้ามชาติต่าง ๆ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการจัดการ ปัญหาต่าง ๆ ในยุคโลกาภิวัตบนพื้นฐานของการศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบและเป็นกลาง เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปร่วมระดับนโยบายในลักษณะ guidelines for best practices และการปรับเปลี่ยนนโยบายภายในประเทศสมาชิกให้สอดคล้องกับ guidelines เหล่านั้นในที่สุด กระบวนการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ประเทศสมาชิก ใช้หลัก peer review/peer pressure ซึ่งเน้นการโน้มน้าวด้วยเหตุผลทางวิชาการ ประกอบกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่น ๆ ทั้งที่เป็นสมาชิกและมิใช่สมาชิก โดยไม่มีบทลงโทษประเทศสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตาม guidelines แต่จะเน้นย้ำว่า การปฏิบัติตาม guidelines จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของสมาชิกเอง OECD มีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการ influence ความคิดเชิงนโยบายของกลุ่มประเทศสมาชิก และโดยที่ OECD เล็งเห็นแนวโน้มพลวัตรและความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม (vulnerabilities to systemic risks) ที่เกิดจากปรากฏการณ์โลกาภิวัต จึงจัดกิจกรรมการประชุมและกำหนดหัวข้อการศึกษาวิจัยที่มีความสำคัญตรงประเด็น (relevant) และทันสมัย อาทิ เรื่อง การพลังงาน การต่อต้านทุจริต การเสริมสร้างธรรมาภิบาลทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีและการบริหารงบประมาณแผ่นดิน การปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ OECD ยังตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิเศรษฐศาสตร์ของโลก และพยายามเพิ่มระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ กับประเทศที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม BRIC – Brazil, Russia, India and China และประเทศกำลังพัฒนาระดับสูง (advanced developing countries) ที่มีความโดดเด่น เช่น แอฟริกาใต้ อียิปต์ โมร็อคโค อาร์เจนตินา ชิลี มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย โดยอาจนับได้ว่าแนวปฏิบัติของ OECD (การส่งเสริมการร่วมกิจกรรมและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น) เป็นช่องทางแผ่ขยายอิทธิพลทางความคิดเพื่อโน้มน้าวการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจีน ให้อยู่บนพื้นฐานของค่านิยมที่กลุ่มประเทศสมาชิกให้ความสำคัญ เช่น เรื่องสิทธิ (rights) เรื่องความเท่าเทียมกัน (equity) และความยุติธรรม (fairness) ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าว มีประโยชน์อย่างยิ่งในการปรับเปลี่ยนนโยบายภายในประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ระหว่างประเทศในภาวะปัจจุบัน ที่กลุ่มประเทศอื่น ๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของตนได้
กลไกการทำงานของ OECD
OECD ใช้ คลังข้อมูลที่มีอยู่ในการช่วยรัฐบาลสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและขจัด ความยากจน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่ความเจริญด้านเศรษฐกิจและสังคมมีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย กลไกหลักในการทำงานของ OECD คือ การติดตามประเมินสถานการณ์ของทั้งประเทศสมาชิกและประเทศอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงการประเมินแนวโน้มการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลางอย่างสม่ำเสมอ ฝ่ายเลขานุการ OECD จะรวบรวบและวิเคราะห์ข้อมูล จากนั้นให้คณะกรรมการเป็นผู้คิดแนวนโยบายจากข้อมูลที่ได้รับและให้คณะมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจเพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาล
คณะกรรมการต่าง ๆ ของ OECD ประกอบด้วย
1.คณะมนตรี (Council) เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในองค์กร ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิก ทั้ง 34 ประเทศ และผู้แทนสหภาพยุโรป โดยผู้แทนถาวรประจำ OECD ของแต่ละประเทศเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรี OECD เป็นประจำ และคณะมนตรีจะมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีปีละ 1 ครั้ง เพื่อหารือประเด็นสำคัญและกำหนด priorities ขององค์กร ทั้งนี้ คณะมนตรี OECD ใช้กลไกการตัดสินใจโดยฉันทามติ
2.คณะกรรมการ (Committees) มีหน้าที่หารือและติดตามประเมินผลในประเด็นเฉพาะทางต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์ การจ้างงาน การศึกษา ตลาดการเงิน เป็นต้น
OECD มี คณะกรรมการ คณะทำงาน และคณะผู้เชี่ยวชาญทั้งสิ้นประมาณ 250 คณะ มีเจ้าหน้าที่จากประเทศสมาชิกเข้าประชุมคณะกรรมการต่าง ๆ เหล่านี้ปีละประมาณ 40,000 คน เพื่อเรียกร้อง ติดตาม และร่วมกันพัฒนางานวิจัยและข้อมูลต่าง ๆ ที่เลขานุการ OECD จัดทำขึ้น
บทบาทของไทย
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ดำเนินการจัดตั้ง OECD Depository Library ในไทย และสมัครเข้าเป็นสมาชิก Development Centre ของ OECD รวมถึงขอสถานะผู้สังเกตการณ์ในคณะกรรมการต่าง ๆ ของ OECD
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นผู้สังเกตการณ์ในกลุ่มงานด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและการประกอบการทางธุรกิจ (Working Party on SMEs and Entrepreneurship – WPSMEE) ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการว่าด้วยอุตสาหกรรม นวัตกรรม และการประกอบการทางธุรกิจของ OECD (Committee on Industry, Innovation and Entrepreneurship – CIIE) และคณะผู้เชี่ยวชาญจาก OECD ได้ดำเนินการศึกษานโยบายด้าน SME ของไทย ภายใต้โครงการ Thailand’s SME Policy Review เพื่อให้ข้อแนะนำแนวการปรับปรุงนโยบายในด้านดังกล่าวให้ SME ของไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ดำเนินการเข้าร่วมเป็นภาคีในระบบการยอมรับร่วมในข้อมูลการ ประเมินสารเคมี (Mutual Acceptance of Data: MAD in the Assessment of Chemicals) ของ OECD และ OECD เห็นชอบต่อการเข้าร่วมของไทยแล้ว
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้สังเกตการณ์ชั่วคราว (Ad Hoc Observer) ในคณะทำงานว่าด้วยการให้สินบนในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Working Group on Bribery and Business Transactions) ซึ่งอยู่ภายใต้ Directorate for Financial and Enterprise Affairs
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแสดงความประสงค์เบื้องต้นในการเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ในคณะกรรมการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม (Committee on Environmental Policy) ภายใต้ Environment Directorate
3. การเข้าเป็นสมาชิก OECD Development Centre
ไทยเข้าเป็น full participant ของ OECD Development Centre เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 และผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เข้าร่วมการประชุมของคณะกรรมการบริหาร (Governing Board) เพื่อร่วมกำหนดแผนการดำเนินการและกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์การพัฒนาฯ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางนโยบายของรัฐบาลไทย
บทบาทของกรมประมง
เนื่องจากการเสริมสร้างความร่วมมือกับ OECD มีค่าใช้จ่ายที่ไทยต้องรับผิดชอบ ได้แก่ ค่าบำรุงสมาชิก OECD Development Centre จำนวน 31,300 ยูโรต่อปี การเป็นผู้สังเกตการณ์ในคณะกรรมการด้านการประมง มีค่าใช้จ่าย 10,000 ยูโรต่อปี ทำให้ไทยสามารถร่วมกำหนดแนวทางกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของไทย เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการเพิ่มพูนประสบการณ์และการเรียนรู้ในการปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการประมงของประเทศ เนื่องจาก OECD มุ่ง เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นของประเทศสมาชิก
นอกจากนี้ กรมประมงยังให้ความร่วมมือในการประสานข้อมูล ความคิดเห็นด้านการประมงระดับประเทศทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ ตลอดจนส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมคณะทำงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องสม่ำเสมอ
ที่มา กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ